มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia)
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia)
ผศ.ดร.ยุทธนา เพ็งแจ่ม
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (leukemia) คือความผิดปกติที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (hematopoietic stem cell) ในไขกระดูก ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกอย่างผิดปกติเป็นจำนวนมากและควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดการสะสมของเม็ดเลือดขาวจนเต็มไขกระดูก ถ้าเกินปริมาณที่ไขกระดูกจะรับไหว เม็ดเลือดขาวจากไขกระดูกจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นผิดปกติ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามการดำเนินโรคและเวลาในการเกิดโรคได้แก่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute leukemia) เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนอย่างผิดปกติ และไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ปกติได้ ทำให้มีจำนวนเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไขกระดูก ส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกทุกชนิด ทำให้การสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติในระยะเวลาอันสั้น ได้แก่อาการอ่อนเพลีย ซีดเนื่องจากภาวะโลหิตจาง โดยกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง มีไข้เพราะการติดเชื้อเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อมีปริมาณลดลง และเลือดออกง่ายโดยเฉพาะตามเยื่อบุต่างๆ เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ เพราะกระทบการสร้างเกล็ดเลือดด้วย
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic leukemia) เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวอย่างผิดปกติ แต่เม็ดเลือดขาวยังสามารถเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ได้ ทำให้อาการของโรคค่อยเป็นค่อยไป เป็นระยะเวลานาน โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จนกระทั่งปริมาณเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นมาก จะทำให้ไปกระทบการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียหรือโลหิตจาง หรือเม็ดเลือดขาวไปสะสมในม้ามทำให้ม้ามโต ทำให้อืดท้องหรือคลำได้ก้อนในท้องเป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Cause of Leukemia)
สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อว่ามีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้แก่
- พันธุกรรม พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบได้สูงกว่าที่อื่นในประชากรแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก แต่พบได้น้อยกว่าในเอเชียและลาตินอเมริกา นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้มากกว่าประชากรทั่วไป
- สารรังสี จากการศึกษาประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าคนปกติถึง 30 เท่า
- สารเคมี การได้รับสารเคมีบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้น เช่นผู้ที่ทำงานในโรงงานฟอกหนัง ทำสี และผู้ที่ได้รับสารเบนซีน รวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับน้ำมันถ่านหิน ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม หรือสเปรย์ฉีดผมอย่างต่อเนื่อง จะพบว่ามีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้นเช่นกัน
- ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน พบมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้นหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนาน 2-10 ปี
- ปัจจัยอื่นๆ โรคของไขกระดูกบางโรคนำมาก่อน เช่น โรคไขกระดูกทำงานผิดปกติหรือไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น โดยพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวตามมาได้ ทั้งในผู้ที่เคยและไม่เคยได้รับการรักษามากก่อน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่พบปัจจัยที่ก่อโรคชัดเจน จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น และอาการจะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งผู้ป่วยต้องมารับการรักษาภายในระยะเวลา 1-3 เดือนหลังจากเริ่มมีอาการ อาการต่างๆ ประกอบด้วย
- กลุ่มอาการของไขกระดูกล้มเหลว ไขกระดูกอยู่ที่บริเวณแกนกลางของกระดูกในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด เมื่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากในไขกระดูก ทำให้พื้นที่ในการสร้างเม็ดเลือดต่างๆ ลดลง จึงไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทั้งสามชนิดได้อย่างเต็มที่เหมือนภาวะปกติ ทำให้มีอาการเนื่องจากเม็ดเลือดเหล่านี้ลดลงซึ่งได้แก่
- โลหิตจาง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
- เม็ดเลือดขาวปกติต่ำลง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ เมื่อมีปริมาณลดลงมาก จะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่าย และมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและมีไข้สูง
- เกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากเกล็ดเลือดทำหน้าที่ในการป้องกันเลือดออก เมื่อมีปริมาณลดลงทำให้เลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟันหรือเลือดกำเดาไหล
- กลุ่มอาการจากการแทรกซึมของมะเร็งเม็ดเลือดขาวไปที่อวัยวะอื่น เช่น ตรวจพบตุ่มตามผิวหนัง เหงือกบวม ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองโตได้เล็กน้อย
- กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารเพื่อการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง ได้แก่ มีน้ำหนักลดลง มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีไข้ต่ำๆ ได้
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีได้ โดยจะตรวจพบความผิดปกติเฉพาะเมื่อได้รับการตรวจเลือดแล้วพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเท่านั้น แต่หากปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีปริมาณสูงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงได้ดังนี้
- อาการเนื่องจากการแทรกซึมของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ม้าม ทำให้ม้ามโต โดยสามารถมีขนาดใหญ่มาก จนคลำได้ก้อนบริเวณท้องด้านซ้ายบน ผู้ป่วยมักมีอาการอิ่มเร็ว อืดแน่นท้อง บางรายคลำพบก้อนได้เองจึงมาพบแพทย์
- กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารเพื่อใช้ในการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง ทำให้อ่อนเพลีย น้ำหนักลดได้
- กลุ่มอาการเนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือด เนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้นในกระแสเลือด อาการขึ้นกับตำแหน่งหลอดเลือดที่อุดตัน ได้แก่ตามัว จากหลอดเลือดที่จอประสาทตาอุดตัน หรือปวดมึนศีรษะจากหลอดเลือดไหลเวียนไปสมองผิดปกติ
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว เริ่มแรกอาศัยอาการและอาการแสดงทางคลินิกที่กล่าวข้างต้น เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมจะพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด โดยมักพบปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นในกระแสเลือด ร่วมกับการตรวจไขกระดูก หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันจะพบปริมารณเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนมากกว่าร้อยละ 20 ของเซลล์ในไขกระดูกทั้งหมด หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังจะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ปริมาณสูงขึ้นในไขกระดูก นอกจากนี้จะต้องมีการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ทั้งการตรวจความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรม และการตรวจลักษณะการแสดงออกบนผิวเซลล์ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่การรักษาเพื่อชักนำให้โรคสงบ และการรักษาหลังโรคสงบ
- การรักษาเพื่อชักนำให้โรคสงบ เป็นการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคสงบ เพื่อให้ปริมาณเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีปริมาณลดลดเหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 ในไขกระดูก
- การรักษาหลังโรคสงบ การที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคสงบแล้วนั้นไม่ได้หมายความว่าเซลล์มะเร็งหมดไปจากร่างกาย แต่มีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะตรวจได้ จุดประสงค์ของการรักษาระยะนี้คือเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ให้หมดไป โดยสามารถพิจารณาการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดต่อเนื่อง หรือการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cell transplantation ) ก็ได้ การจะเลือกวิธีรักษาใดนั้นขึ้นกับความเสี่ยงในการเป็นโรคซ้ำของผู้ป่วย รวมทั้งอายุ ความฟิตของร่างกาย รวมทั้งการมีผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้ของหมู่เม็ดเลือดขาวกับผู้ป่วย
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอีลอยด์ จะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมจำเพาะได้แก่ ฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ซึ่งปัจจุบันมียารับประทานที่ออกฤทธิ์มุ่งเป้าในการยับยั้งเฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต
ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ เป็นโรคเรื้อรังแม้ไม่หายขาดแต่โรคไม่รุนแรง และมักไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องให้การรักษา หากจำเป็นต้องรักษาจะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดโดยสามารถให้ได้ทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้
สรุป
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการและอาการแสดงได้หลากหลาย ยังไม่ทราบสาเหตุการก่อโรคที่ชัดเจน ความรุนแรงรวมถึงการพยากรณ์โรคและการรักษาขึ้นกับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นๆ บางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางชนิดต้องให้การดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
เอกสารอ้างอิง
- Hartmut Döhner, Daniel J. Weisdorf, and Clara D. Bloomfield. Acute myeloid leukemia.N Engl J Med 2015; 373:1136-52.
- Stephen P. Hunger and Charles G. Mullighan. Acute Lymphoblastic Leukemia in Children. N Engl J Med 2015; 373:1541-52.
- Jabbour E1, Kantarjian H. Chronic myeloid leukemia: 2014 update on diagnosis, monitoring, and management. Am J Hematol. 2014 May; 89(5):547-56.