การพัฒนารายวิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชนสู่การสร้างเสริมสุขภาพชุมชน...
การพัฒนารายวิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชนสู่การสร้างเสริมสุขภาพชุมชน
วิมลมาลย์ ศรีรุ่งเรือง *, นัฐ ตันศิลา, วาสนา บัวทอง, สืบตระกลู วิเศษสมบัติ, และ ยุทธนา เพ็งแจ่ม
คณะเทคนิคการแพทย์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลด้านปัญหาสุขภาพชุมชนและความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนมาพัฒนารายวิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชนของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยศึกษาในปีพ.ศ.2554 เริ่มด้วยการสำรวจปัญหาสุขอนามัยของ ชุมชนบ้านในไร่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสำรวจความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับกิจกรรมด้านสุขภาพในรายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน เพื่อนำความรู้ด้านเทคนิคการแพทย์และสุขภาพองค์รวมไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนารายวิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคต่อไป การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามด้านสุขภาพ และด้านความต้องการเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในการสำรวจชุมชนและเยี่ยมตามบ้านโดยการนำของอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ผลการวิจัยพบว่าปัญหาสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนบ้านในไร่ จากการสำรวจ 37 ครอบครัว จำนวน 69 คนเป็น ผู้หญิง 49 คน ผู้ชาย 20 คน คิดเป็นร้อยละ 71 และ 29 ตามลำดับและส่วนมากเป็นวัยกลางคน มีปัญหาโรคเรื้อรังได้แก่ ความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาคือเบาหวานและไขมันในเลือดสูง คิดเป็นร้อยละ31.3 15.6 และ 14.1ตามลำดับซึ่งเป็นความชุกที่สูงมาก นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่เป็นโรคที่พบไม่บ่อยเช่น โรคต้อกระจกตาพร่ามัว ปวดเมื่อย ภูมิแพ้ โรคกระดูกและข้อและอัมพาต จากการวัดเส้นรอบเอว พบผู้มีน้ำหนักเกินร้อยละ 41.0 ซึ่งมีค่าสูงมากเพราะจากการสำรวจในประเทศไทยในผู้หญิงและผู้ชายอายุระหว่าง 45-49 ปีพบน้ำหนักเกินร้อยละ 27.4 และ 36.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ปัญหาของครัวเรือนมีการทิ้งขยะมูลฝอยไม่ถูกสุขลักษณะ ประชาชนในชุมชนต้องการกิจกรรมด้านสุขภาพ 4 อันดับแรกได้แก่ 1.ความรู้เรื่องการตรวจสารต่างๆในเลือด 2.ภูมิปัญญาธรรมชาติบำบัดและการพัฒนาจิตส่งเสริมสุขภาพ 3.การมีแกนนำด้านสุขภาพและพึ่งพาตนเอง 4.ภูมิปัญญาด้านจัดการความเครียดและมีความสุขฉับพลัน และกิจกรรมที่ต้องการน้อยที่สุดคือ การได้รับการจ่ายยา จะเห็นได้ว่า ชุมชนสนใจการมีความรู้ในการตรวจเลือดและในการดูแลสุขภาพโดยพึ่งตนเองแบบธรรมชาติบำบัดโดยใช้จิตที่มีสติหรือความสงบ ดูแลสุขภาพองค์รวมของตนเอง ดังนั้นแนวทางในการพัฒนารายวิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชนควรมีการสอดแทรกความรู้ด้านธรรมชาติบำบัดและจิตสงบเข้าไปในรายวิชาด้วยเพื่อนักศึกษาจะได้มีความรู้และประสบการณ์สร้างเสริมสุขภาพองค์รวมให้ประชาชน
คำสำคัญ—ปัญหาสุขภาพ การสำรวจ เทคนิคการแพทย์ชุมชน บ้านในไร่ จิตสงบ สุขภาพองค์รวม
* ผู้นำเสนอ: e-mail: wimonman.s@psu.ac.th